กลุ่มอาหารสุขภาพ ให้คุณตาคุณยาย อารมณ์ดี อาหารสำหรับผู้สูงอายุในหน้าร้อน ถ้าจะให้กล่าวถึงอาหารสำหรับผู้สูงอายุ หลายๆคนคงคิดหนักอยู่เหมือนกันใช่ไหมค่ะ...และถ้าเป็นช่วงฤดูร้อนด้วยยิ่งต้องดูแลเป็นพิเศษ วันนี้ลองมาอ่านคำแนะนำของนักโภชนาการ ของโรงพยาบาลผู้สูงอายุ กล้วยน้ำไท2 ถึงการเลือกอาหารให้เหมาะสมและได้คุณค่าทางโภชนาการด้วย สำหรับหน้าร้อนนี้ควรเลือกวัตถุดิบที่จะประกอบอาหารให้กับผู้สูงอายุโดยเน้นอาหารที่ย่อยง่าย ออกฤทธิ์เย็น โดยสามารถแบ่งตามกลุ่มหลักประเภทอาหารเป็น
- กลุ่มคาร์โบไฮเดรต เช่น น้ำตาล ข้าวขาว เส้นหมี่ วุ้นเส้น เป็นต้น
- กลุ่ม ผัก เช่น กะหล่ำดอก ผักกาดขาว ข้าวโพด ผักกาดหอม ป๋วยเล้ง แตงกวา เป็นต้น
- กลุ่มผลไม้ เช่น กล้วย แก้วมังกร แคนตาลูป แตงโม แตงไทย แอ๊ปเปิ้ล เป็นต้น
- กลุ่มโปรตีน เช่น เนื้อปลา เนื้อไก่ไม่ติดหนัง ไข่ขาว เต้าหู้ เป็นต้น
เนื่องจากหน้าร้อนอาจทำให้ร่างกายของผู้สูงอายุสูญเสียน้ำได้ง่าย เหงื่อออกมากกว่าปกติ อาหารที่ทำให้รับประทาน ควรเลือกที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบประเภทต้มจืดต่างๆ และควรให้ผู้สูงอายุดื่มน้ำสะอาดที่ต้มสุก หรือเป็นเครื่องดื่ม ประเภท น้ำสมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็น เป็นประจำอย่างน้อยวันละ 8 - 10 แก้ว โดยปรุงรสไม่ให้หวานจัด ซึ่งทำให้รู้สึกสดชื่น สามารถดื่มได้ทั้งวัน เพื่อให้ร่างกายไม่ต้องใช้พลังงานในการเผาผลาญมากนักซึงส่งผลให้ร่างกายไม่เกิดความร้อน
สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง
- อาหารที่มีฤทธิ์ร้อน เช่น ขิง กระเทียม เนื้อวัว ลิ้นจี่ หอมใหญ่ เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้ร่างกายเสียสมดุลและเกิดการเจ็บป่วย
- อาหารประเภทกะทิ เสี่ยงต่อการบูดเสียได้ง่าย ดังนั้นต้องมั่นใจว่าปรุงสุกใหม่ และไม่ควรให้ผู้สูงอายุทานทุกวันเพราะอาจส่งผลให้ผู้สูงอายุเกิดโรคไขมันในเลือดสูงได้
- อาหารประเภทยำ รวมทั้งอาหารทะเล ที่เสี่ยงต่อการเน่าเสียหรือลวกไม่สุก อาจส่งผลให้ผู้สูงอายุเกิดอาการท้องเสียได้ง่าย
ดังนั้นจากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่าการเตรียมอาหารสำหรับผู้สูงอายุไม่ได้ยากเลยใช่ไหมค่ะ ผู้ดูแลสามารถเลือกปรับเปลี่ยนตามความชอบของผู้สูงอายุได้เลยค่ะ แต่หากในกรณีผู้สูงอายุมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดัน โรคไต หรืออื่นๆ ที่ต้องการควบคุมจำกัดปริมาณสารน้ำและเกลือแร่ หรือแคลลอรี่ ที่ต้องให้การดูแลตามเกณฑ์การควบคุมการบริโภคอาหารด้วยค่ะ
12 วิธี จัดอาหารให้เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ
จัดอาหารให้ครบ 5 กลุ่ม กินหลากหลายในปริมาณที่เหมาะสม
เลือกกินข้าวไม่ขัดสีเป็นหลักสลับกับอาหารประเภทแป้ง เช่น ก๋วยเตี๋ยว ขนมจีน เป็นต้น
เลือกกินปลา ไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ถั่วเมล็ดแห้งมาปรุงอาหารเป็นประจำ
กินผักหลากหลายสีและสลับชนิดกันไป
กินผลไม้ไม่หวานจัด วันละ 1-3 ส่วน (ผลไม้ 1 ส่วน ประมาณ 6-8 ชิ้นพอดีคำ)
กินนมรสจืด วันละ 1-2 แก้ว และกินอาหารแหล่งแคลเซียม เช่น ปลาเล็กปลาน้อย เต้าหู้แข็ง
หั่นอาหารเป็นชิ้นเล็ก ๆ ทำให้นิ่มด้วยการต้ม นึ่ง ลวก เพื่อง่ายต่อการเคี้ยวและย่อย
กรณีกินมื้อหลักไม่เพียงพอ จัดให้กินครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อยครั้งแบ่งเป็นมื้อย่อย ๆ วันละ 5-6 มื้อ
ลดการปรุงรสจัด หวาน มัน เค็ม ใช้สมุนไพรเพิ่มรสชาติเลี่ยงอาหารหมักดอง อาหารแปรรูป
ปรุงสุกใหม่เน้นลวก ต้ม นึ่ง อบ เลี่ยงแกงกะทิและอาหารทอด
ดื่มน้ำสะอาดวันละ 8 แก้ว เลี่ยงเครื่องดื่มชา กาแฟ ในช่วงเย็นถึงค่ำ
งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มชูกำลัง