โรคหัวใจ (Heart Disease) หมายถึง โรคต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ ซึ่งสามารถแบ่งย่อยได้เป็นหลายกลุ่มโรค เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคลิ้นหัวใจ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด และโรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ
โรคหัวใจถือเป็นโรคอันตรายที่ส่งผลให้ผู้ที่ป่วยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม สาเหตุสำคัญของโรคหัวใจเป็นสิ่งที่สามารถป้องกันหรือลดความเสี่ยงได้ เช่น ควันบุหรี่ อาหารไขมันสูง อาหารหวาน อาหารเค็ม รวมไปถึงการปรับพฤติกรรม อย่างการควบคุมน้ำหนัก และการตรวจสุขภาพวัดระดับความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ
อาการของโรคหัวใจ
ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับหัวใจที่ส่วนต่างกันส่งผลให้โรคหัวใจมีอาการที่ต่างกันไปในแต่ละชนิด เช่น
1.โรคหลอดเลือดหัวใจ
โรคหลอดเลือดหัวใจมักส่งผลให้มีอาการเจ็บหรือแน่นหน้าอก ร้าวไปตามกราม แขน ลำคอ ท้อง หรือบริเวณหลัง และบางครั้งอาจมีอาการเหนื่อย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง หรือหมดสติได้
2. โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
มักส่งผลให้มีอาการผิดปกติของจังหวะการเต้นของหัวใจ เช่น อาจเต้นเร็วผิดปกติ ช้าผิดปกติ เต้นไม่สม่ำเสมอ หรือใจสั่น แต่บางครั้งก็อาจแสดงอาการเหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก เวียนศีรษะ หรือคล้ายจะเป็นลมได้เช่นกัน
3.โรคกล้ามเนื้อหัวใจ
ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์มักมีอาการเหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่ม โดยเฉพาะเมื่อต้องออกแรงหนัก ๆ ส่วนในกรณีรุนแรง อาจพบอาการเหนื่อยแม้ขณะนั่งอยู่เฉย ๆ มีอาการบวมตามแขน ขา หนังตา ร่วมกับอาการอ่อนเพลีย นอนราบไม่ได้ และตื่นขึ้นมาไอในเวลากลางคืน
4. โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
หัวใจพิการแต่กำเนิดเป็นโรคที่เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อทารกอยู่ในครรภ์ โดยอาจแสดงอาการทันทีเมื่อคลอด หรืออาจแสดงในภายหลัง ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่มีอาการเขียวและกลุ่มไม่มีอาการเขียว โดยในกลุ่มที่อาการไม่รุนแรงมักสังเกตได้ในภายหลัง เช่น เหนื่อยง่าย ส่วนในกลุ่มที่มีอาการมากจะทำให้เลี้ยงไม่โต ทารกมีอาการเหนื่อยขณะให้นมหรือติดเชื้อทางเดินหายใจบ่อย ๆ
5. โรคลิ้นหัวใจ
อาการของโรคขึ้นอยู่กับความผิดปกติของลิ้นหัวใจที่เกิดขึ้น โดยในกลุ่มที่ไม่รุนแรงอาจไม่แสดงอาการใด ๆ หรืออาจได้ยินเสียงผิดปกติจากการตรวจร่างกายเท่านั้น แต่หากมีความผิดปกติของลิ้นหัวใจมากก็จะมีอาการเหนื่อยง่าย และเกิดภาวะหัวใจวายหรือน้ำท่วมปอดได้
6. โรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ
อาการที่แสดงถึงโรคนี้ ได้แก่ มีไข้ โดยมักจะเป็นไข้เรื้อรัง อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า หัวใจเต้นผิดปกติ หายใจหอบเหนื่อย ไอเรื้อรังแห้ง ๆ ขาหรือช่องท้องบวม รวมถึงมีผื่นหรือจุดขึ้นตามผิวหนัง
สาเหตุของโรคหัวใจ
เช่นเดียวกันกับอาการ สาเหตุของโรคหัวใจแต่ละชนิดมีที่มาต่างกัน ดังนี้
โรคหลอดเลือดหัวใจ
มักเกิดจากไขมันหรือแคลเซียมที่สะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในหลอดเลือดจนขัดขวางทางเดินเลือด และเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอ นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้อีกด้วย เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในหลอดเลือดสูง น้ำหนักเกิน และสูบบุหรี่
โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของหัวใจอยู่แล้วหรือเกิดกับคนสุขภาพปกติก็ได้ ซึ่งสาเหตุก็เช่น การถูกไฟฟ้าช็อต สารเสพติด ยาหรืออาหารเสริมบางชนิด รวมทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีน นอกจากนี้อาจเกี่ยวกับโรคหัวใจอื่น ๆ เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคลิ้นหัวใจ หรือโรคอื่น ๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง
โรคกล้ามเนื้อหัวใจ
โรคหัวใจชนิดนี้มีสาเหตุต่างกันไปตามความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อหัวใจ เช่น
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม อาจเกิดจากการไหลเวียนของเลือดสู่หัวใจน้อยลง การได้รับยาหรือสารพิษบางชนิด การติดเชื้อ และพันธุกรรม
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนา สาเหตุมักเป็นผลจากพันธุกรรมและอายุที่มากขึ้น
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจถูกบีบรัด หรือกล้ามเนื้อหัวใจแข็งและยืดหยุ่นน้อยลง อาจเป็นผลมาจากโรคอื่น เช่น เนื้อเยื่อเกี่ยวพันผิดปกติ ภาวะธาตุเหล็กมากเกิน หรือการรักษามะเร็งด้วยเคมีบำบัด รังสีบำบัด
โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
อาจเป็นภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ของมารดาที่ทำให้ทารกคลอดก่อนกำหนด การใช้ยาหรือสารเสพติดบางชนิดขณะตั้งครรภ์ การติดเชื้อของมารดาระหว่างตั้งครรภ์ รวมทั้งอาจเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม
โรคลิ้นหัวใจ
สามารถเกิดขึ้นได้ในผู้ที่มีลิ้นหัวใจผิดปกติหรือทำงานบกพร่องมาแต่กำเนิด หรือเป็นโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคอื่น ๆ เช่น ไข้รูมาติก เยื่อบุหัวใจอักเสบ หรือเนื้อเยื่อเกี่ยวพันผิดปกติ
โรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ
เกิดขึ้นได้จากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือปรสิต รวมทั้งการทำหัตถการทางการแพทย์ การใช้สารเสพติด และมีการเหนี่ยวนำให้เกิดการติดเชื้อที่บริเวณหัวใจตามมา
การวินิจฉัยโรคหัวใจ
แพทย์มักเริ่มด้วยการตรวจร่างกายเบื้องต้น สอบถามอาการ ประวัติการเจ็บป่วย รวมถึงบุคคลในครอบครัวที่เคยป่วยเป็นโรคหัวใจ จากนั้นจึงพิจารณาความเป็นไปได้แล้วเลือกวิธีวินิจฉัยขั้นต่อไป ซึ่งอาจเป็นการตรวจเลือด เอกซเรย์หน้าอก ตรวจหัวใจด้วยเครื่อง CT Scan หรือ MRI ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจบันทึกการทำงานของหัวใจ หรือตรวจด้วยการสวนหลอดเลือดหัวใจ ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
การรักษาโรคหัวใจ
การรักษาโรคหัวใจจะรักษาตามสาเหตุที่ตรวจพบและรักษาตามอาการที่ผู้ป่วยเป็นในขณะนั้น เช่น การทำหัตถการสวนหัวใจ การผ่าตัดหัวใจ ร่วมกับการใช้ยารักษา รวมถึงการให้คำแนะนำในการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง การสูบบุหรี่ ความเครียด ร่วมกับเพิ่มการออกกำลังกาย การลดอาการเค็ม อาหารหวาน และอาหารที่มีไขมันสูง
ภาวะแทรกซ้อนของโรคหัวใจ
โรคหัวใจชนิดต่าง ๆ อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่แตกต่างกัน ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยที่สุด คือ หัวใจล้มเหลว เกิดขึ้นได้จากโรคหัวใจทุกชนิด ส่วนภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ อาจขึ้นอยู่กับโรคหัวใจที่ผู้ป่วยเป็นด้วย เช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจทำให้เกิด
ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
ส่วนกลุ่มโรคหลอดเลือดหัวใจอาจตามมาด้วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โรคหลอดเลือดในสมองขาดเลือด โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ และโรคหลอดเลือดแดงโป่งพอง ซึ่งภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้สามารถนำไปสู่การเสียชีวิตอย่างฉับพลันได้
การป้องกันโรคหัวใจ
การป้องกันโรคหัวใจด้วยตนเองทำได้โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และหมั่นตรวจร่างกายเพื่อควบคุมระดับความดันและไขมันในเลือดเป็นประจำ รวมถึงการรับประทานอาหาร โดยควรเน้นผัก ผลไม้ ธัญพืช ลดปริมาณไขมัน โซเดียม และน้ำตาลให้น้อย
นอกจากนี้ ควรหมั่นออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนัก หยุดสูบบุหรี่ ควบคุมความเครียด รวมทั้งรักษาสุขอนามัยให้ถูกต้องอยู่เสมอเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ
ความหมาย โรคหัวใจ (Heart Disease) อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/