ผู้เขียน หัวข้อ: โรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B)  (อ่าน 60 ครั้ง)

siritidaphon

  • บุคคลทั่วไป
โรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B)
« เมื่อ: 11 เมษายน 2024, 12:05:37 pm »
โรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี

โรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี เป็นสาเหตุของการเกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง และมะเร็งตับ เป็นลำดับต้น ๆ ในประเทศไทย ราวเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยโรคตับเรื้อรังในประเทศไทยมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี โดยพบความชุกของโรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในประชากรไทยราวร้อยละ 5-7 ของประชากรทั้งหมด


สาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง และการติดต่อไวรัสตับอักเสบบี

ไวรัสตับอักเสบบีนั้นมีการติดต่อผ่านทางเลือด ได้แก่ การติดต่อจากแม่สู่ลูกซึ่งเป็นทางติดต่อที่พบมากที่สุด และเป็นเหตุหลักของภาวะไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง การใช้เข็มฉีดยาหรือของมีคมร่วมกัน รวมถึงการได้รับเลือดหรือผลิตภัณฑ์ของเลือดที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส (ในปัจจุบันมีการคัดกรองหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซีในเลือดทุกถุง ดังนั้นโอกาสการติดต่อทางนี้จึงน้อยมาก) และทางเพศสัมพันธ์


อาการ และภาวะแทรกซ้อนของไวรัสตับอักเสบบี

การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีนั้น หากรับเชื้อมาในขณะที่เป็นผู้ใหญ่ซึ่งมีสถานะทางภูมิคุ้มกันที่ค่อนข้างแข็งแรงส่วนมากมักจะกำจัดเชื้อได้เองโดยมักจะไม่มีอาการใด ๆ เลย หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย ในส่วนน้อยที่มีอาการรุนแรงผู้ป่วยจะมีอาการของภาวะตับอักเสบเฉียบพลัน ได้แก่ ไข้ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ทานอาหารไม่ได้ อาจมีอาการตัวเหลืองตาเหลือง หรือที่เรียกว่าดีซ่าน และในผู้ป่วยบางรายที่ตับมีการทำงานบกพร่องอยู่ก่อนอาจมีอาการรุนแรงจนถึงขั้นตับวายได้ ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการซึม สับสน เนื่องจากมีของเสียคั่งในร่างกาย รวมถึงมีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดเชื้อแทรกซ้อนจนอาจทำให้ถึงแก่ชีวิต ในผู้ใหญ่หลังจากหายจากการติดเชื้อแบบเฉียบพลันผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และมักจะไม่มีการดำเนินโรคไปสู่การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังในอนาคต

ในทางกลับกันหากได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในขณะเป็นทารกซึ่งรับผ่านมาทางมารดาขณะคลอด ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะกลายเป็นผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง ซึ่งเชื้อไวรัสตับอักเสบบีนี้จะอยู่ในร่างกายเป็นระยะเวลายาวนานหลายสิบปีจนถึงวัยผู้ใหญ่ และสามารถแบ่งระยะการติดเชื้อเป็นระยะต่าง ๆ ตามอัตราการแบ่งตัวของไวรัส และการอักเสบของตับที่เกิดขึ้น ซึ่งการอักเสบของตับนี้เกิดจากการที่ภูมิต้านทานของร่างกายเกิดการต่อสู้กับไวรัสทำให้เกิดการบาดเจ็บของเนื้อตับที่เราเรียกกันว่าภาวะตับอักเสบซึ่งส่วนมากมักจะไม่มีอาการใด ๆ แต่ทำให้ตับเกิดความเสียหายอย่างเรื้อรัง และมีการสร้างและสะสมพังผืดหรือแผลเป็นตามหลักการอักเสบ นำไปสู่ภาวะตับแข็งและมะเร็งตับในที่สุด ผู้ป่วยบางรายไม่ทราบมาก่อนเลยว่าตนเองมีไวรัสตับอักเสบบีเนื่องจากไม่มีอาการ แต่มาทราบเมื่อตนเองอยู่ในระยะตับแข็งที่เป็นมากแล้ว ซึ่งจะแสดงอาการต่าง ๆ เช่น ตัวเหลืองตาเหลือง มีน้ำในช่องท้อง เลือดออกในทางเดินอาหารจากความดันหลอดเลือดในช่องท้องสูง หรือคลำก้อนมะเร็งตับได้ที่ช่องท้อง เป็นต้น

ในผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังนั้นมักจะมีระยะที่โรคสงบ หรือที่อาจเรียกกันอย่างคุ้นเคยว่าพาหะไวรัสตับอักเสบบี แต่ในความเป็นจริงแล้วคำว่าพาหะอาจเป็นคำที่ไม่ค่อยถูกต้องมากนัก เนื่องจากนัยยะของคำว่าพาหะนั้นแปลว่าตัวผู้มีเชื้อนั้นไม่ได้รับผลอะไรจากการมีเชื้ออยู่ เพียงแต่สามารถส่งต่อให้คนอื่นได้เท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงถึงแม้จะอยู่ในภาวะโรคสงบนั้น การมีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีอยู่ในร่างกายก็มีโอกาสที่จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดตับแข็ง รวมถึงมะเร็งตับในอนาคต รวมถึงยังมีความเสี่ยงในการเกิดการกำเริบของไวรัสตับอักเสบบีอีกด้วย


อาการ และภาวะแทรกซ้อนของไวรัสตับอักเสบบี

ผู้ป่วยที่ตรวจพบว่าตนเองมีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีควรพบแพทย์ทุกราย เพื่อทำการประเมินว่าตับได้รับความเสียหายหรือมีการสะสมของพังผืดมากน้อยเพียงใด รวมถึงตรวจประเมินสถานการณ์ติดเชื้อของไวรัส และตรวจนับจำนวนไวรัส และทำการคัดกรองมะเร็งตับอีกด้วย

นอกจากนี้ในผู้ที่มีคู่สมรสที่เป็นไวรัสตับอักเสบบี รวมถึงผู้ที่มีประวัติครอบครัวของโรคตับแข็งหรือมะเร็งตับที่ไม่ทราบสาเหตุชัดเจน ควรได้รับการตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเช่นกัน อย่างไรก็ดีเนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความชุกของไวรัสตับอักเสบบีค่อนข้างสูง จึงมีคำแนะนำว่าในคนไทยที่ไม่เคยได้รับการตรวจหาไวรัสตับอักเสบบีมาก่อน ควรทำการตรวจเป็นพื้นฐานอย่างน้อยหนึ่งครั้ง


การวินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบบี

การตรวจและวินิจฉัยการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีนั้นทำได้ง่าย ๆ โดยการตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบีที่อยู่ในกระแสเลือด เบื้องต้นจะทำการคัดกรองโดยการตรวจหาส่วนที่เรียกว่าเป็นผิวของเชื้อ (surface antigen) และทำการตรวจนับปริมาณไวรัสในกระแสเลือดต่อไปหากตรวจพบ


เป้าหมายของการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบี

การรักษาไวรัสตับอักเสบบีนั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้น ได้แก่ภาวะตับแข็ง และมะเร็งตับ นอกจากนี้การรักษายังมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดการติดต่อของเชื้อเพื่อตัดวงจรการแพร่ของเชื้อโดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งต่อเชื้อจากมารดาไปสู่บุตรในครรภ์


การตรวจเพิ่มเติมเพื่อการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบี

เนื่องจากยาที่ใช้รักษาไวรัสตับอักเสบบีในปัจจุบันนั้นถึงแม้จะมีประสิทธิภาพในการกดไวรัสได้เป็นอย่างดี แต่โอกาสที่จะกำจัดไวรัสออกจากร่างกายอย่างเด็ดขาดนั้นอาจจะยังไม่ได้มีอัตราที่สูงมากนัก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อแบ่งกลุ่มผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัส โดยต้องทำการตรวจวัดปริมาณพังผืดในตับเพื่อเป็นการประเมินความเสียหายของตับที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ร่วมกับการตรวจนับปริมาณไวรัสมาเพื่อประกอบการพิจารณาการรักษา

การตรวจวัดปริมาณพังผืดตับในปัจจุบันสามารถทำได้โดยการใช้เครื่องมือตรวจวัดที่ชื่อว่า transient elastography (Fibroscan®) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ส่งคลื่นเสียงผ่านผิวหนังเพื่อตรวจวัดการสะท้อนของเนื้อตับโดยไม่ได้รับความเจ็บปวด หรืออาจตรวจได้จากการตรวจเลือดเพื่อนำไปคำนวณค่าพังผืดของตับได้เช่นกัน

การตรวจและแนวทางการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบี

แนวทางการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบี

ในผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ในการรักษา ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีภาวะตับแข็ง มีพังผืดในตับสูง มีปริมาณไวรัสสูง หรือเป็นมะเร็งตับ ควรได้รับการพิจารณาการรักษา โดยการรักษาหลัก ๆ จะเป็นยาชนิดรับประทาน โดยรับประทานวันละหนึ่งเม็ดเพื่อลดปริมาณไวรัสในร่างกายและลดการเกิดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับตับไม่ให้มากขึ้นไปกว่าที่เป็นอยู่ โดยยาชนิดรับประทานมีประสิทธิภาพในการลดจำนวนไวรัสได้ดีมาก แต่อัตราในการกำจัดเชื้อไวรัสออกจากร่างกายยังน้อยอยู่ทำให้อาจต้องรับประทานยาไปเป็นระยะเวลานานหลายปี หรืออาจจะตลอดชีวิต

ในผู้ป่วยบางรายที่มีปัจจัยเชิงบวกที่อาจตอบสนองดีต่อยาต้านไวรัสชนิดฉีดแพทย์ก็อาจทำการพิจารณาใช้ยาฉีดเป็นราย ๆ เนื่องจากถึงแม้ว่ายาฉีดจะใช้เวลารักษาเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องใช้ยาตลอดชีวิต แต่ก็มีผลข้างเคียงที่มากกว่า และมีอัตราการหายขาดจากเชื้อยังไม่สูงมากนัก


ผลลัพธ์ และความคาดหวังจากการรักษา

การรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังนั้น เพื่อป้องกันและจำกัดความเสียหายของตับเพื่อไม่ให้ดำเนินไปจนถึงการเป็นตับแข็ง และลดโอกาสการเกิดมะเร็งตับ รวมถึงป้องกันกันเกิดการกำเริบของเชื้อไวรัส ดังนั้นในผู้ป่วยที่เริ่มรักษาควรรับประทานยาให้สม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการดื้อยาในอนาคต รวมถึงเพื่อให้ยาเกิดประสิทธิภาพในการลดไวรัสได้ดีที่สุด

นอกจากนี้ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังควรได้รับการตรวจหามะเร็งตับด้วยการคัดกรองเบื้องต้น ได้แก่ การตรวจสารบ่งชี้มะเร็งตับ (AFP) ร่วมกับการทำอัลตราซาวนด์ช่องท้องส่วนบนทุกหกเดือน ในผู้ป่วยที่ตับเริ่มแข็ง หรือผู้ป่วยที่ตับยังไม่แข็งแต่เป็นเพศชายที่มีอายุเกิน 40 ปี และเพศหญิงที่มีอายุเกิน 50 ปี รวมถึงผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคมะเร็งตับด้วย

การกำเริบของไวรัสตับอักเสบบีนั้นก็เป็นสิ่งที่ควรระมัดระวัง เนื่องจากเป็นภาวะที่อาจเกิดขึ้นได้ และบางครั้งอันตรายถึงชีวิตหากมีอาการกำเริบอย่างรุนแรง โดยความเสี่ยงของการเกิดการกำเริบของไวรัสตับอักเสบบีนั้นขึ้นอยู่กับสภาวะการทำงานของตับ หากตับมีพังผืดอยู่เดิมนั้นการกำเริบของไวรัสตับอักเสบบีอาจทำให้มีอาการตับอักเสบรุนแรงจนถึงขั้นตับวายได้ ดังนั้นหากผู้ที่เป็นไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังมีความจำเป็นต้องได้รับยากดภูมิบางชนิด เช่น ยาเสตียรอยด์ขนาดสูง ยาเคมีบำบัด หรือยาภูมิคุ้มกันบำบัด จำเป็นจะต้องแจ้งแพทย์ที่ทำการดูแลรักษาทุกครั้งว่าท่านมีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีอยู่ เพื่อพิจารณาการให้ยาต้านไวรัสสำหรับป้องกันการกำเริบของไวรัสตับอักเสบบี



โรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B) อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/disease-conditions/177

 

ลงประกาศฟรี ติด google ลงโฆษณา ขายของ ฟรี โพสต์ฟรี ลงประกาศฟรี ขายฟรี ขายบ้าน ขายที่ดิน ขายคอนโด ประกาศฟรี ขายฟรี ขายรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหารเสริม เครื่องสำอางค์ สถานที่ท่องเที่ยว เว็บประกาศฟรี ติดอันดับ Google