หนองใน (โกโนเรีย ก็เรียก) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (กามโรค) ที่พบได้มากเป็นอันดับแรก ๆ ของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์*
*ในที่นี้มักหมายถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 5 ชนิด ซึ่งพบเรียงลำดับจากมากไปน้อย ดังนี้ (1) หนองใน (2) ซิฟิลิส (3) หนองในเทียม (4) แผลริมอ่อน (5) ฝีมะม่วง
สาเหตุ
เกิดจากการติดเชื้อหนองใน (GC) ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่มีชื่อว่า โกโนค็อกคัส (gonococcus/Neisseria gonorrheae) ติดต่อโดยทางเพศสัมพันธ์
ระยะฟักตัว 2-10 วัน (โดยทั่วไปภายใน 5 วัน)
อาการ
ในผู้ชาย หลังจากได้รับเชื้อ (หลังมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อ) ประมาณ 2-10 วัน จะมีอาการแสบในลำกล้องเวลาถ่ายปัสสาวะ หรือถ่ายปัสสาวะขัดและมีหนองไหลออกจากท่อปัสสาวะ ในระยะแรกอาจไหลซึมเป็นมูกใส ๆ เล็กน้อย ภายใน 12 ชั่วโมงต่อมาจะกลายเป็นหนอง (สีเหลือง) ข้น และออกมาคล้ายเส้นก๋วยเตี๋ยว
ประมาณร้อยละ 10 ของผู้ชายที่ติดเชื้อหนองใน อาจไม่มีอาการแสดงอะไรเลยก็ได้ แต่สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้
ในผู้หญิง ระยะแรกมักไม่มีอาการ ต่อมาจะมีอาการตกขาวเป็นหนองสีเหลือง มีกินเหม็น ไม่คัน มีอาการขัดเบาและแสบร้อนเวลาปัสสาวะ ปัสสาวะขุ่น ถ้ามีอาการอักเสบของปีกมดลูกจะมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดและกดเจ็บตรงท้องน้อย และปีกมดลูกอักเสบ
ผู้หญิงที่ติดเชื้อหนองในประมาณครึ่งหนึ่ง อาจไม่มีอาการแสดงอะไรเลยก็ได้ แต่สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้
ทั้งสองเพศ นอกจากอาการดังกล่าวแล้ว อาจมีต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบ (ไข่ดัน) บวมและเจ็บด้วย
ภาวะแทรกซ้อน
ในผู้ชาย ถ้าไม่ได้รับการรักษา อาจมีหนองไหลอยู่ 3-4 เดือน และเชื้อหนองในอาจลุกลามไปยังบริเวณใกล้เคียง ทำให้ท่อปัสสาวะอักเสบ ซึ่งอาจทำให้ท่อปัสสาวะตีบตันได้
อาจทำให้ต่อมลูกหมากอักเสบ หรือเป็นฝีที่ผนังของท่อปัสสาวะ
ในบางรายอาจทำให้อัณฑะอักเสบ (อัณฑะปวดบวมและเป็นหนอง) ซึ่งอาจทำให้กลายเป็นหมันได้
ในผู้หญิง เชื้ออาจลุกลามทำให้ต่อมบาร์โทลิน (Bartholin’s gland) ที่แคมใหญ่เกิดการอักเสบ หรือเป็นฝีบวมโต หรืออาจทำให้เยื่อบุมดลูกอักเสบ หรือปีกมดลูกอักเสบ ซึ่งถ้าอักเสบรุนแรง เมื่อหายแล้วอาจทำให้ท่อรังไข่ตีบตัน กลายเป็นหมัน หรือทำให้ตั้งครรภ์นอกมดลูกได้
ทั้งสองเพศ เชื้ออาจเข้ากระแสเลือดไปที่ข้อ (หนองในเข้าข้อ) ทำให้เป็นโรคข้ออักเสบชนิดติดเชื้อเฉียบพลัน ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้น้อยมาก ข้อที่พบได้บ่อย คือ ข้อเข่า ข้อเท้า ข้อมือ
นอกจากนี้ยังอาจมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่พบได้น้อยมาก เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เยื่อบุหัวใจอักเสบ (endocarditis) ซึ่งอาจทำให้ลิ้นหัวใจรั่ว และหัวใจวาย
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย ซึ่งมีสิ่งตรวจพบ ดังนี้
มีหนองไหลออกจากท่อปัสสาวะ หรือมีอาการตกขาวเป็นหนองสีเหลือง มีกลิ่นเหม็น อาจตรวจพบต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบ (ไข่ดัน) บวมและเจ็บ
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัด โดยการนำหนองไปย้อมสี และส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ หรือนำไปเพาะเชื้อ
การรักษาโดยแพทย์
นอกจากแนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยแล้ว แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะขนานใดขนานหนึ่ง เช่น
เซฟิไซม์ (cefixime) 400 มก. กินครั้งเดียว ร่วมกับอะซิโทรไมซิน (azithromycin) 1 กรัม กินครั้งเดียว
เซฟทริอะโซน (ceftriaxone) 250 มก. ฉีดเข้ากล้ามครั้งเดียว ร่วมกับอะซิโทรไมซิน 1 กรัม กินครั้งเดียว
สเปกติโนไมซิน (spectinomycin) 2 กรัม ฉีดเข้ากล้ามเนื้อครั้งเดียว
2. ผู้หญิงที่มีอาการหนองไหลออกจากท่อปัสสาวะ ร่วมกับมีไข้สูง ปวดท้องน้อย ขัดเบา ตกขาว อาจเป็นปีกมดลูกอักเสบเฉียบพลัน อาจจำเป็นต้องรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล
ผลการรักษา หลังให้ยาปฏิชีวนะ มักจะหายเป็นปกติได้ใน 1-2 สัปดาห์
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น มีหนองไหลจากท่อปัสสาวะ ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นหนองใน ควรดูแลตนเอง ดังนี้
รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ห้ามหลับนอนกับคู่สมรส เป็นเวลา 2-4 สัปดาห์ และงดดื่มเหล้า 1 เดือน เพราะเหล้าอาจทำให้หนองไหลมากขึ้น
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลา หรือมีอาการกำเริบ
มีอาการที่สงสัยว่าเป็นผลข้างเคียงจากยาหรือแพ้ยา*
*เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม หายใจมีเสียงดังวี้ด ๆ หายใจลำบาก เวียนศีรษะ บ้านหมุน หน้ามืดเป็นลม ตามัว หูอื้อ หูตึง ปวดท้อง ท้องผูก ท้องเดิน ถ่ายอุจจาระดำ คลื่นไส้ อาเจียน ดีซ่าน (ตาเหลือง) จุดแดงจ้ำเขียว บวม ไอเรื้อรัง เป็นต้น
การป้องกัน
หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ และถ้าจะหลับนอนกับคนที่สงสัยว่าเป็นหนองใน ควรใช้ถุงยางอนามัย ซึ่งจะช่วยป้องกันได้เกือบร้อยละ 100 (ส่วนโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่น ๆ อาจได้ผลไม่เต็มที่ และมีโอกาสติดเชื้อได้บ้าง)
การดื่มน้ำก่อนร่วมเพศ และถ่ายปัสสาวะทันทีหลังร่วมเพศ หรือการฟอกล้างสบู่ทันทีหลังมีเพศสัมพันธ์ อาจช่วยลดการติดเชื้อลงได้บ้าง แต่ไม่ใช่จะได้ผลทุกราย
ส่วนการกิน "ยาล้างลำกล้อง" ซึ่งเป็นยาระงับเชื้อ (antiseptic) ไม่ใช่ทำลายเชื้อ ไม่ได้ผลในการป้องกัน ยานี้กินแล้วทำให้ปัสสาวะเป็นสีเเปลก ๆ เช่น สีแดง สีเขียว
การกินยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรคภายหลังร่วมเพศอาจได้ผลบ้าง แต่ต้องใช้ยาชนิดและขนาดเดียวกับที่ใช้รักษา ซึ่งดูแล้วไม่คุ้ม สู้รอให้มีอาการแสดงค่อยรักษาไม่ได้ นอกจากนี้ก็ยังไม่อาจป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่นได้
ข้อแนะนำ
1. ในบ้านเราพบเชื้อหนองในที่ดื้อต่อกลุ่มยาเพนิซิลลิน เรียกว่าเชื้อ PPNG ซึ่งย่อมาจาก penicillinase producing Neisseria gonorrheae ชาวบ้านเรียกว่าซูเปอร์โกโนเรีย ซึ่งจะรักษาด้วยยาฉีดโปรเคนเพนิซิลลินที่เคยใช้ในอดีตไม่ได้ผล ต้องเปลี่ยนไปใช้ยาชนิดอื่นแทน นอกจากนี้ยังพบว่าเชื้อหนองในยังดื้อต่อยากลุ่มฟลูออโรคลิโนโลน และยาชนิดอื่นที่เคยใช้ในสมัยก่อน
2. ควรแนะนำให้ผู้สัมผัสโรค เช่น หญิงที่มีสามีเป็นหนองใน หรือผู้ที่หลับนอนกับคนที่เป็นหนองในไปตรวจรักษาโรคนี้พร้อม ๆ กันไปด้วย เพื่อป้องกันมิให้เกิดการแพร่เชื้อแก่กันอีก
3. ผู้ที่เป็นหนองใน ควรเจาะเลือดตรวจวีดีอาร์แอล (venereal disease research laboratory/VDRL) เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีการติดเชื้อซิฟิลิสร่วมด้วย ถ้าพบวีดีอาร์แอลเป็นผลบวกหรือเรียกว่า เลือดบวก ก็แสดงว่าเป็นซิฟิลิส ควรตรวจครั้งแรกเมื่อก่อนให้การรักษา และอีก 3 เดือนต่อมาตรวจซ้ำอีกครั้ง
นอกจากนี้ ควรตรวจหาเชื้อเอชไอวีพร้อมกันไปด้วย
4. หญิงตั้งครรภ์ถ้าเป็นหนองใน ควรรีบรักษาให้หายขาด มิฉะนั้นลูกอาจติดเชื้อระหว่างคลอด ทำให้ตาอักเสบรุนแรงและอาจทำให้ตาบอดได้ (ดู "ตาอักเสบจากเชื้อหนองใน" เพิ่มเติม)
5. หนองในติดต่อโดยการร่วมเพศเป็นสำคัญ ถ้ามีการร่วมเพศทางปากหรือทวารหนัก ก็อาจทำให้เป็นหนองในลำคอหรือทวารหนักได้ ส่วนการติดต่อโดยทางอื่นพบได้น้อยมาก ที่อาจพบได้ คือ การใช้ผ้าเช็ดหน้าที่เปื้อนถูกหนองในสด ๆ เช็ดตา เชื้ออาจเข้าตาทำให้ตาอักเสบรุนแรงได้ จึงควรหลีกเลี่ยงจากการใช้ผ้าเช็ดตัวร่วมกับผู้ที่เป็นโรค
เชื้อหนองในไม่สามารถมีชีวิตอยู่ในสระว่ายน้ำหรือโถส้วม ดังนั้นจึงไม่มีโอกาสที่จะติดเชื้อจากสระว่ายน้ำหรือโถส้วม
6. ความเชื่อเรื่องของแสลงสำหรับโรคนี้ เช่น สาเก หน่อไม้ หูฉลาม อาหารทะเล เป็นต้น ทางวงการแพทย์ยังไม่มีการยืนยันแน่ชัด
แต่ที่แน่นอน คือ ต้องงดแอลกอฮอล์เป็นเวลา 1 เดือน เพราะอาจทำให้หนองไหลมากขึ้น ส่วนอาหารอื่น ถ้ากินแล้วทำให้หนองไหลมากขึ้นหรือกำเริบใหม่ก็ควรจะงด
7. หนองในและหนองในเทียม บางครั้งอาจแยกอาการกันไม่ออก ถ้าใช้ยารักษาหนองใน (โดยไม่ได้ตรวจเชื้อก่อน) อย่างเต็มที่แล้วไม่ได้ผล อาจเป็นเพราะเชื้อดื้อยา หรืออาจเป็นหนองในเทียมก็ได้
ตรวจอาการด้วยตนเอง: หนองใน (Gonorrhea) อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/symptom-checker