หัวใจขาดเลือด (Heart Attack) หรือหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน คือภาวะที่หัวใจขาดเลือดและออกซิเจนที่ไปหล่อเลี้ยงหัวใจเนื่องจากหลอดเลือดหัวใจถูกปิดกั้นจากคราบพลัค (Plaque) จนทำให้กล้ามเนื้อที่หัวใจเสื่อมสภาพและตายลง
โดยโรคนี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. ภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันชนิดพบความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจมีลักษณะ ST Segment (ST Segment Elevation Myocardial Infarction - STEMI) เกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจอย่างเฉียบพลัน จนทำให้เกิดความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง หากไม่ได้รับการรักษาโดยเร็ว จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันแบบรุนแรงได้
2. ภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันชนิดไม่พบ ST Segment Elevation (Non-ST Segment Elevation Myocardial Infarction - NSTEMI) เกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจแบบเฉียบพลัน ซึ่งหากมีอาการติดต่อกันนานกว่า 30 นาที จะทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้ แต่ถ้าอาการไม่รุนแรง อาจเกิดเพียงภาวะเจ็บหน้าอกชนิดไม่คงที่ (Unstable Angina) เท่านั้น
อาการหัวใจขาดเลือด
อาการที่มักพบได้ในผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้แก่
1. รู้สึกแน่นและเจ็บหน้าอก ผู้ป่วยจะมีอาการแน่น รู้สึกเหมือนหัวใจถูกบีบ หรือมีแรงดันจำนวนมากที่บริเวณกลางอกหรือที่อกข้างซ้าย โดยอาการอาจจะเกิดขึ้นไม่กี่นาทีแล้วก็หาย แต่จากนั้นก็อาจจะกลับมาเป็นอีก นอกจากนี้ผู้ป่วยยังอาจรู้สึกเหมือนแสบร้อนกลางอก หรืออาหารไม่ย่อยได้อีกด้วย อาการเจ็บหน้าอกมักจะเกิดขึ้นรุนแรง บางรายอาจมีอาการเพียงเล็กน้อยคล้ายกับอาหารไม่ย่อย ขณะที่ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานอาจไม่มีอาการเจ็บหน้าอกใด ๆ ได้เช่นกัน
2. รู้สึกอึดอัดที่หน้าอกหรือลิ้นปี่ นอกจากรู้สึกแน่นที่หน้าอกแล้ว ผู้ป่วยอาจรู้สึกว่าอาการแน่นแล่นไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายท่อนบนด้านซ้าย ได้แก่ บริเวณกราม คอ หลังหน้าท้อง และแขน แต่บางรายก็อาจมีอาการจุกเสียดแน่นทั้ง 2 ซีกของร่างกายส่วนบนได้
3. หายใจถี่ ๆ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการหายใจสั้นที่เกิดขึ้นจากความรู้สึกของตนเอง หรืออาจเกิดขึ้นขณะที่รู้สึกเจ็บและแน่นหน้าอก โดยอาการนี้อาจเกิดขึ้นจากหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
นอกจากนี้ ยังอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ซึ่งมีสาเหตุเนื่องจากอาการแน่นหน้าอกและหายใจได้ลำบาก ดังนี้
วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน
เหงื่อออกขณะที่ร่างกายเย็น
รู้สึกวิตกกังวลมากผิดปกติ
ไอ หรือหายใจมีเสียง
มีอาการเหนื่อยมากผิดปกติโดยไม่มีสาเหตุ
สาเหตุของหัวใจขาดเลือด
โรคนี้เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งทำให้เลือดที่จะไหลเวียนไปยังหัวใจถูกขัดขวาง และเมื่อหัวใจไม่ได้รับเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงอย่างเหมาะสม กล้ามเนื้อหัวใจก็จะเสื่อมสภาพและเริ่มตาย หากไม่ได้รับการรักษาจนความเสียหายของกล้ามเนื้อหัวใจเกิดขึ้นเป็นบริเวณกว้าง หัวใจก็จะหยุดเต้นและเสียชีวิตในที่สุด โดยสาเหตุที่ทำให้เลือดไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงหัวใจได้อย่างเพียงพอ ได้แก่
1. โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Heart Disease) เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โดยคราบพลัคที่เกิดขึ้นภายในหลอดเลือด ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง เมื่อสะสมมาก ๆ เข้าก็จะอุดตันที่หลอดเลือดหัวใจโคโรนารี และทำให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือด
2. ภาวะหลอดเลือดหัวใจหดตัวอย่างรุนแรง (Coronary Artery Spasm) เป็นสาเหตุที่พบได้ไม่บ่อยนัก เกิดขึ้นจากการที่หลอดเลือดหัวใจโคโรนารีเกิดการหดตัวอย่างรุนแรงจนทำให้การไหลเวียนเลือดไปยังหัวใจถูกตัดขาด ทั้งนี้ยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดของภาวะดังกล่าว แต่ก็พบว่ามีความเกี่ยวข้องกับการใช้ยาเสพติด ความเครียด หรืออาการเจ็บปวด การอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศเย็นมาก และการสูบบุหรี่
3. ภาวะขาดออกซิเจนในเลือด (Hypoxia) เป็นสาเหตุที่พบได้ไม่บ่อยนัก โดยเมื่อระดับออกซิเจนในเลือดลดลงเนื่องจากได้รับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากเกินไป ก็จะทำให้หัวใจไม่ได้รับเลือดที่มีออกซิเจนอย่างเต็มที่ กล้ามเนื้อหัวใจก็จะเสียหาย และเกิดโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันในที่สุด
นอกจากนี้โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันก็ยังอาจเกิดขึ้นได้หากผู้ป่วยมีความเสี่ยงสุขภาพ โดยความเสี่ยงนั้นแบ่งออกได้เป็น ความเสี่ยงคงที่ ความเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงได้ และความเสี่ยงอื่น ๆ
ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เช่น
อายุ ยิ่งอายุมากขึ้นก็ยิ่งเสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
เพศ ผู้ชายเป็นเพศที่มีความเสี่ยงต่อโรคนี้มากกว่า แต่ก็สามารถเกิดในผู้หญิงได้ด้วยเช่นกัน
พันธุกรรม หากมีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นโรคหัวใจ ก็จะยิ่งเสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันมากขึ้น
ปัจจัยเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงได้ พฤติกรรมการใช้ชีวิต และการรับประทานอาหารอาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงโรคหัวใจขาดเลือดได้มากขึ้น แต่ความเสี่ยงก็สามารถลดลงได้หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ความเสี่ยงเหล่านี้ได้แก่
- การสูบบุหรี่ ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำจะเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจและหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันมากขึ้น การเลิกสูบบุหรี่จะช่วยให้ความเสี่ยงลดลง
- ภาวะคอเลสเตอรอลสูง หากมีระดับคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดีสูง ก็จะเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดแดงแข็ง และทำให้หลอดเลือดหัวใจอุดตันได้
- ความดันโลหิตสูง ทำให้หัวใจยิ่งทำงานหนักขึ้นเมื่อเกิดโรคความดันโลหิตสูง และทำให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติจนเป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจ หัวใจวาย และโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน การรับประทานอาหารที่ดีต่อร่างกาย และการรักษาอย่างต่อเนื่องในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงจะทำให้ความเสี่ยงลดลงได้
- การไม่ออกกำลังกาย จะเพิ่มความเสี่ยงให้กับโรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดได้ โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจที่เป็นสาเหตุของหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน แต่ถ้าหากออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอในปริมาณที่เหมาะสมก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่าง ๆ ได้
- โรคอ้วนและภาวะน้ำหนักเกิน จะทำให้ร่างกายเกิดการสะสมไขมันในร่างกายมากผิดปกติ จนก่อให้เกิดความเสี่ยงโรคหัวใจ การควบคุมน้ำหนักจะช่วยให้ความเสี่ยงลดลงได้
- โรคเบาหวาน หากผู้ป่วยเบาหวานควบคุมระดับนำ้ตาลในเลือดไม่ดี จะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นหัวใจ และความเสี่ยงจะยิ่งมากขึ้นหากผู้ป่วยมีโรคอ้วน สามารถลดความเสี่ยงได้หากควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
ความเสี่ยงอื่น ๆ เป็นความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ และสามารถส่งผลให้เป็นโรคหัวใจวาย แต่ถ้าหากหลีกเลี่ยงก็สามารถขจัดความเสี่ยงเหล่านี้ออกไปได้
- ความเครียด สามารถก่อให้เกิดความเสี่ยงโรคหัวใจ เนื่องจากความเครียดสามารถนำมาสู่พฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น การรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ หรือการใช้สารเสพติดต่าง ๆ
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้จะมีการแนะนำว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่เหมาะสมช่วยบำรุงหัวใจได้ แต่หากดื่มมากไปก็เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจได้ อีกทั้งยังไม่แนะนำให้ผู้ที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ หรือผู้ที่ดื่มอยู่แล้วดื่มเพื่อบำรุงหัวใจ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้
- อาหาร ถือเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด เพราะอาหารสามารถส่งผลต่อปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น ระดับคอเลสเตอรอล ความดันโลหิต โรคเบาหวาน และโรคอ้วน ดังนั้นจึงควรรับประทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะและมีสารอาหารครบถ้วนในปริมาณที่พอเหมาะ
การวินิจฉัยหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
ผู้ป่วยและคนใกล้ชิดสามารถสังเกตอาการหัวใจได้เบื้องต้น หากมีอาการแน่น หรือเจ็บหน้าอก และหายใจลำบาก โดยเฉพาะคนที่มีปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจขาดเลือด ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะหากปล่อยไว้อาจทำให้อาการยิ่งรุนแรงขึ้นและเสียชีวิตได้
โดยเมื่อไปพบแพทย์ แพทย์จะทำการซักประวัติถึงอาการ และการรักษาต่าง ๆ ที่จำเป็นในการวินิจฉัย และอาจมีการถามถึงประวัติครอบครัวว่ามีใครเป็นโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันหรือไม่ จากนั้นแพทย์จะทำการสั่งตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีดังต่อไปนี้
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: ECG) เป็นการตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันที่สำคัญที่สุด ในการตรวจจะใช้เวลาประมาณ 5 นาที โดยแพทย์จะติดแผ่นประจุไฟฟ้าไว้ที่แขน ขา และหน้าอก จากนั้นจะวัดคลื่นไฟฟ้า อัตราและจังหวะการเต้นของหัวใจว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ซึ่งวิธีการตรวจนี้จะช่วยยืนยันการวินิจฉัยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน และระบุประเภทของโรคนี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อแพทย์จะได้ทำการรักษาต่อไป
การตรวจเลือด เป็นวิธีการตรวจวินิจฉัยที่ช่วยระบุโรคหัวใจขาดเลือดได้ เพราะเมื่อเกิดภาวะหัวใจขาดเลือด ก็จะทำให้มีโปรตีนสิ่งแปลกปลอมจากเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจที่ตายรั่วไหลลงไปในกระแสเลือดมากกว่าปกติ ยิ่งมีโปรตีนเจือปนในเลือดมากเท่าใดก็บ่งบอกว่าเป็นโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เช่น
- การตรวจหาคาร์ดิแอค โทรโปนิน (Cardiac Troponin) เป็นการตรวจหาโปรตีนในเซลล์ที่ช่วยระบุภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเนื่องจากหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้
- การตรวจหาครีเอตินไคเนส-เอ็มบี (CK-MB) การตรวจเพื่อหาเอ็นไซม์ในเลือด ซึ่งจะรั่วลงมาในเลือดเมื่อเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย
การใส่สายสวนหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Angiography) เป็นการตรวจดูความผิดปกติของหัวใจขาดเลือดด้วยการฉีดสารทึบสีเข้าไปในหลอดเลือดหัวใจ จากนั้นแพทย์จะทำการเอกซเรย์เพื่อดูว่ามีส่วนใดของหลอดเลือดอุดตันหรือตีบบ้างหรือไม่ หากพบความผิดปกติ แพทย์จะรักษาด้วยสอดสายสวนเพื่อเปิดทางให้เลือดไหลเวียนได้สะดวกมากขึ้น
การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram) การตรวจหาความผิดปกติของหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อน โดยแพทย์จะใช้อุปกรณ์ส่งคลื่นเสียงเข้าไปกระทบหัวใจออกมาเป็นภาพให้เห็น ซึ่งจะช่วยให้แพทย์เห็นความเสียหายของหัวใจที่เกิดจากการขาดเลือดได้
การรักษาหัวใจขาดเลือด
หัวใจขาดเลือดเป็นภาวะที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เพราะยิ่งรักษาเร็วเท่าไหร่ ก็จะสามารถยับยั้งความเสียหายของกล้ามเนื้อหัวใจ และช่วยให้การฟื้นฟูเป็นไปได้ดียิ่งขึ้น โดยการรักษาจะขึ้นอยู่กับชนิดของโรคหัวใจขาดเลือดที่พบ ทั้งนี้ในเบื้องต้นเมื่อเกิดอาการ ควรโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งหน่วยแพทย์อาจทำการรักษาด้วยวิธีเบื้องต้น ดังนี้
ให้ยาแอสไพรินเพื่อป้องกันการแข็งตัวของเลือด
ให้ยาไนโตรไกลเซริน (Nitroglycerin) เพื่อลดการทำงานของหัวใจ และช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น
ให้ออกซิเจน
รักษาอาการแน่นหรือเจ็บหน้าอก
เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจแล้ว แพทย์จะใช้วิธีในการรักษาที่แตกต่างกันไป ในระหว่างการรักษาผู้ป่วยจะต้องดูแลสุขภาพและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างสม่ำเสมอและทำตามคำแนะนำแพทย์อย่างเคร่งครัด เช่น เลิกสูบบุหรี่ ควบคุมระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ความดันโลหิตสูง และระดับน้ำตาลในเลือด ออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม รวมทั้งผู้ป่วยต้องลดความเครียด เพราะความเครียดจะยิ่งทำให้อาการรุนแรงยิ่งขึ้น
แม้ว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตจะช่วยให้อาการโดยรวมดีขึ้น แต่ผู้ป่วยก็จำเป็นต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์เป็นหลัก ที่แพทย์นิยมใช้ ได้แก่
การใช้ยา แพทย์จะพิจารณาการใช้ยาชนิดใดชนิดหนึ่ง หรืออาจใช้ยาหลายตัวร่วมกันเพื่อรักษาอาการ ยาที่มักใช้ได้แก่
- ยาแอสไพริน เป็นยาที่แพทย์และหน่วยแพทย์ฉุกเฉินนิยมใช้เพื่อรักษาอาการหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันในเบื้องต้น กลไกในการทำงานของยาชนิดนี้จะช่วยลดลิ่มเลือดและทำให้เลือดสามารถไหลเวียนภายในหลอดเลือดที่แคบได้
- ยาละลายลิ่มเลือด (Thrombolytics) คือยาที่มีคุณสมบัติในการละลายลิ่มเลือด ซึ่งปิดกั้นระบบไหลเวียนโลหิต ทั้งนี้หากผู้ป่วยได้รับยาชนิดนี้ภายในระยะเวลาไม่นานตั้งแต่เริ่มเกิดอาการจะช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตและลดความเสียหายของหัวใจได้
- ยาต้านเกล็ดเลือด (Antiplatelet) คือยาที่ใช้ในการป้องกันการเกิดลิ่มเลือด และป้องกันไม่ให้ลิ่มใหญ่ขึ้นกว่าเดิม ทำให้ผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้นจากการที่ระบบไหลเวียนโลหิตสามารถไหลเวียนไปเลี้ยงหัวใจได้มากขึ้น
- ยาระงับอาการปวด สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการแน่นหรือเจ็บที่หน้าอก การใช้ยานี้จะช่วยลดอาการปวดลงได้ แต่จะต้องใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น เนื่องจากยาที่ใช้ค่อนข้างแรง หรือเป็นยาแก้ปวดชนิดสารเสพติด ได้แก่ มอร์ฟีน เป็นต้น
- ยาไนโตรไกลเซริน (Nitroglycerin) ยาดังกล่าวจะใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บหน้าจากโรคหลอดเลือดหัวตีบ โดยยาจะเข้าไปทำให้หลอดเลือดที่ตีบขยายตัวมากขึ้น ส่งผลดีต่อการไหลเวียนโลหิต
- ยาปิดกั้นการทำงานของเบต้า (Beta Blockers) ในผู้ป่วยหัวใจขาดเลือด จะต้องมีการใช้ยานี้เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อหัวใจ ลดความเร็วของอัตราการเต้นหัวใจ ลดความดันโลหิต ซึ่งจะทำให้หัวใจทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- ยาเอซีอีอินฮิบิเตอร์ (ACE Inhibitors) เป็นยาที่ใช้ในการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดโดยส่วนใหญ่ โดยยาจะเข้าไปลดระดับความดันโลหิตและให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานได้ดีขึ้น
การผ่าตัด บางกรณีแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดเพื่อช่วยให้เลือดสามารถไหลเวียนไปยังหัวใจได้อย่างเพียงพอมากขึ้น โดยแพทย์มักนิยมใช้วิธีดังต่อไปนี้
- การขยายหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยบอลลูนและการถ่างด้วยขดลวด (Coronary Angioplasty and Stenting) เป็นการผ่าตัดที่จะนำอุปกรณ์คล้ายที่มีลักษณะคล้ายบอลลูนใส่เข้าไปที่หลอดเลือดหัวใจเพื่อขยายหลอดเลือดบริเวณที่อุดตันหรือตีบ แพทย์จะนำท่อเล็ก ๆ สอดเข้าไปในหลอดเลือดหัวใจ โดยเริ่มจากที่บริเวณขา หรือขาหนีบ เพื่อถ่างหลอดเลือดไว้ วิธีการผ่าตัดนี้สามารถช่วยฟื้นฟูระบบไหลเวียนเลือดให้สามารถไปหล่อเลี้ยงหัวใจได้อย่างเพียงพอ
- การผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Bypass Surgery) ในบางกรณีผู้ป่วยอาจต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อบายพาสหลอดเลือดหัวใจอย่างเร่งด่วน โดยแพทย์จะนำหลอดเลือดดำที่บริเวณขามาเชื่อมต่อกับหลอดเลือดหัวใจ เพื่อเบี่ยงทางไหลเวียนของเลือดข้ามส่วนที่ตีบหรืออุดตัน ซึ่งเมื่อผ่าตัดแล้วระบบไหลเวียนเลือดจะค่อย ๆ กลับมาใกล้เคียง ทำให้หัวใจกลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ภาวะแทรกซ้อนของหัวใจขาดเลือด
ผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดส่วนใหญ่สามารถพบกับภาวะแทรกซ้อนได้ ไม่ว่าอาการนั้นจะรุนแรงหรือไม่ ซึ่งภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้มีตั้งแต่อาการไม่รุนแรง จนถึงอันตรายและอาจทำให้เสียชีวิตได้ ที่พบในผู้ป่วยมีดังต่อไปนี้
หัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia) เป็นผลมาจากการที่กล้ามเนื้อหัวใจเสียหาย หรือถูกทำลายเนื่องจากมีเลือดไปหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอ ซึ่งความเสียหายนี้จะส่งผลให้กระแสไฟฟ้าที่กระตุ้นการเต้นของหัวใจทำงานผิดปกติตามไปด้วย ซึ่งอาการของภาวะแทรกซ้อนนี้คือ ใจสั่น เจ็บหน้าอก วิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย และหายใจลำบาก แต่ถ้าหากรุนแรงก็อาจทำให้กระแสไฟฟ้านั้นไม่สามารถส่งไปยังส่วนต่าง ๆ ของหัวใจได้ จนเป็นเหตุให้เลือดไม่สามารถสูบฉีดได้ดีเท่าที่ควร
นอกจากนี้ หากการเต้นของหัวใจห้องล่างผิดปกติ (Ventricular Arrhythmia) ยังอาจนำมาสู่ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Cardiac Arrest) และทำให้เสียชีวิตได้ภายใน 24-48 ชั่วโมงหลังเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
หัวใจวาย (Heart Failure) เมื่อหัวใจขาดเลือดและออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอ กล้ามเนื้อหัวใจบางส่วนจะเริ่มตาย และไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ โดยภาวะนี้อาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวหรือเรื้อรัง ขึ้นอยู่กับความรวดเร็วในการรักษาและฟื้นฟูความเสียหายของกล้ามเนื้อหัวใจ
ภาวะความดันโลหิตต่ำที่มีสาเหตุจากหัวใจ (Cardiogenic Shock) อาการคล้ายกับภาวะหัวใจวาย แต่เป็นอาการที่มีความรุนแรงมากกว่า เพราะจะเกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้ การรักษาเบื้องต้นแพทย์อาจใช้ยาเพื่อเพิ่มความดันโลหิตและกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด แต่ในระยะยาวจะต้องผ่าตัดเพื่อทำการติดตั้งอุปกรณ์ช่วยในการสูบฉีดเลือด เพื่อให้เลือดสามารถไปเลี้ยงอวัยวะอื่น ๆ ได้อย่างเพียงพอ
ผนังกล้ามเนื้อหัวใจฉีกขาด (Heart Rupture) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่มีความรุนแรงมาก แต่มักพบได้ไม่บ่อยนัก เกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อหัวใจส่วนต่าง ๆ เช่น ผนังกล้ามเนื้อหัวใจหรือลิ้นหัวใจเกิดการปริแตก ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นภายใน 1-5 วันหลังจากเกิดภาวะหัวใจขาดเลือด และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ภายใน 5 วัน
การป้องกันหัวใจขาดเลือด
สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ห่างไกลจากโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้ดีที่สุดก็คือการดูแลรักษาระบบหัวใจและหลอดเลือดให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพราะจะช่วยให้ลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ โดยหลัก ๆ มีวิธีดังนี้
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ในปริมาณที่เหมาะสม จะช่วยให้ผู้ป่วยห่างไกลความเสี่ยงของโรคที่เกี่ยวระบบหัวใจได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคความดันโลหิตสูง หรือภาวะคอเลสเตอรอลสูง โดยอาหารที่ควรรับประทานได้แก่ อาหารที่มีไขมันดี ผัก ผลไม้ที่มีไฟเบอร์สูง นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันที่ไม่ดี อาหารที่มีรสเค็มจัด หรืออาหารแปรรูปต่าง ๆ เป็นต้น
- เลิกสูบบุหรี่ ทั้งระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งปอด จะทำงานได้ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์หากไม่สามารถเลิกได้ด้วยตนเอง
- ควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ นอกจากการรับประทานอาหารที่ดีแล้ว การควบคุมความเครียดและการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่เหมาะสม ก็ช่วยลดความดันโลหิตอันเป็นสาเหตุใหญ่ของโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด
ควบคุมน้ำหนัก ยิ่งมีน้ำหนักมาก ก็ยิ่งเสี่ยงต่อโรคหัวใจชนิดต่าง ๆ เพราะเมื่อร่างกายมีไขมันสะสมเยอะก็จะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้
นอกจากนี้ หากสมาชิกในครอบครัวเคยป่วยด้วยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ก็ควรที่จะวางแผนรับมือหากสมาชิกคนอื่นเกิดอาการด้วย ควรจดรายละเอียดยาที่ใช้ ยาที่แพ้ และเตรียมหมายเลขโทรศัพท์ของหน่วยแพทย์ฉุกเฉินไว้ในที่ที่สามารถเห็นได้สะดวก รวมถึงผู้ป่วยควรพกข้อมูลติดต่อของคนใกล้ชิดที่สามารถติดต่อได้ทันทีหากเกิดเหตุฉุกเฉิน คนในครอบครัวควรช่วยกันดูความผิดปกติ เพราะยิ่งพบเร็วก็จะทำให้รักษาได้อย่างทันท่วงทีมากขึ้น และสามารถเพิ่มอัตราการรอดชีวิตได้
ความหมาย โรคหัวใจขาดเลือด อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/